panyotai
EN

บุคลากร

ปัญโญทัยดำเนินงานโดยคณะผู้สอนซึ่งผ่านกระบวนการอบรมในปรัชญาและมรรควิธีของวอลดอร์ฟ ตลอดจนธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การศึกษาและพัฒนาตนเองของครูก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สามารถนำหลักการที่เรียนรู้มาปรับใช้ในห้องเรียนได้อย่างสอดคล้องกับภูมิหลัง ความสามารถ และบุคลิกลักษณะของนักเรียน ครูผู้สอนต่างเข้ามาด้วยสำนึกที่ต้อง การใชัชีวิตอย่างมีคุณค่า ประสงค์จะทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคม ปรารถนาจะร่วมสานฝันกับ ปัญโญทัย ทุกคนเข้ามาเนื่องจากเห็นว่างานที่นี่คือการบ่มเพาะหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ในตัวเด็กและตัวเราเอง

น.พ. พร พันธุ์โอสถ

หลังจากสำเร็จแพทยศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมอพรทำงานในโรงพยาบาลและคลีนิคมาร่วม 10ปี โดยพุ่งความสนใจไปในการบริการผู้ยากไร้และเด็กด้อยโอกาส แต่เห็นว่าการเยียวยาทางกายไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของสังคมได้ มีแต่การยกระดับจิตสำนึกของมนุษย์เท่านั้น และวิถีที่จะพัฒนามนุษย์ได้อย่างทั่วด้านคือการศึกษาแนววอลดอร์ฟ จึงเดินทางไปศึกษาที่อเมริกาจนสำเร็จปริญญาโททางการศึกษาวอลดอร์ฟ ทั้งระดับปฐมวัยและประถม-มัธยมต้น หลังจากกลับมาได้ก่อตั้งปัญโญทัยขึ้นเมื่อปี 2539 เพื่อนำการศึกษาแนววอลดอร์ฟมาใช้กับเด็กไทย พร้อมกันนั้นก็พยายามผลักดันให้การศึกษาไทยเป็นอิสระ เป็นไปเพื่อพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริง จนเป็นผลให้พรบ.การศึกษาฉบับใหม่นี้เปิดกว้างมากขึ้น ต่อมาภายหลังได้ผ่านการอบรมการสอนแนววอลดอร์ฟระดับมัธยมปลายที่ออสเตรเลีย

หมอพรเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับนานาชาติตามทวีปต่างๆ มามากมายหลายครั้ง เดินทางไปบรรยายตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีผลงานการเขียนอีกมาก และเป็นวิทยากรประจำของรัถยาคมทำการฝึกอบรมครูวอลดอร์ฟในประเทศไทย เป็นผู้แทนของชมรมมนุษยปรัชญาประจำประเทศไทย กรรมการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก Ashoka Fellow และ 1ใน 50นักสังคมศาสตร์การแพทย์ของไทย ได้รับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณ "ทูตพิทักษ์สิทธิเด็กแห่งปี 2553" สาขานักพัฒนาเอกชน จากคณะทำงานด้านเด็ก ร่วมกับภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก และล่าสุดได้รับการรับรองจาก Medical Section, Goetheanum, School of Spiritual Science ทางด้าน Anthroposophic Curative Education and Social Therapy

จันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา คุณปุ๊ผ่านการทำงานด้านสื่อมวลชนสลับกับบริษัทธุรกิจ แทรกด้วยการรับราชการชั่ววูบที่กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นจึงหันมาทำงานอิสระด้วยการแปลหนังสือและวีดีโอ จนมีลูกจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสนใจในการดูแลและพัฒนาเด็ก คุณปุ๊ได้ศึกษาทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก จนได้รู้จักชาวเยอรมันซึ่งพยายามเผยแพร่แนวคิดวอลดอร์ฟ พบว่าแนวคิดนี้แตกต่างจากแนวอื่นๆ อย่างมาก โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ซึ่งแยกไม่ออกจากกระบวนการพัฒนาทั้งหมดของมนุษย์ และสไตเนอร์ได้ให้มุมมองที่ลึกซึ้งรอบด้าน จนรู้สึกขอบคุณตลอดมาที่ได้รู้จักแนวคิดนี้  เพราะช่วยให้ทิศทางที่ดีงามในการดูแลลูก ตลอดจนการดำเนินชีวิตของตัวเอง

ทั้งครอบครัวได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับวอลดอร์ฟที่อเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ก่อตั้งปัญโญทัยขึ้น โดยหวังจะให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะได้รับ ขณะเดียวกันเพื่อให้ผู้ที่สนใจแสวงหาได้มีโอกาสเรียนรู้ เกี่ยวกับแนวคิดนี้ ประกอบกับเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันฝึกหัดครูวอลดอร์ฟที่มีความเข้าใจสภาพสังคมและเด็กไทย จึงดำเนินการจัดอบรมสำหรับผู้ที่ประสงค์จะศึกษาเกี่ยวกับวอลดอร์ฟอย่างลึกซึ้งจริงจังขึ้นในนามของรัถยาคม นอกจากนั้นยังแปลหนังสือเกี่ยวกับวอลดอร์ฟออกมาเป็นภาษาไทยหลายเล่ม เพื่อช่วยให้คนไทยที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวอลดอร์ฟได้ง่ายขึ้น

อรุณรัตน์ เฉลิมพรพงศ์

ครูน้องจบปริญญาตรีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วกลับมาศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจ จนสำเร็จปริญญาโทจากเอแบค พร้อมกันนั้นก็สอนภาษาไทยให้คนจีนในประเทศไทย และเป็นอาจารย์พิเศษด้านการตลาดที่วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี

หลังจากมีสมาชิกในครอบครัวครบถ้วน ครูน้องตัดสินใจลาออกจากผู้อำนวยสินเชื่อด้านบริษัทข้ามชาติของธนาคารกรุงเทพ มาดูแลลูกเต็มเวลา ระหว่างแสวงหาโรงเรียนประถมให้ลูก ครูน้องได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาวอลดอร์ฟ และรู้สึกแปลกใจที่มีระบบการศึกษาที่คำนึงถึงเด็กในทุกมิติอย่างแท้จริงเช่นนี้ จึงพาลูกมาเรียนที่ปัญโญทัย  ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับการทำงานที่นี่มากขึ้น และตระหนักถึงการทุ่มเทเพื่อเด็กของคนที่นี่ จนกระทั่งเข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ปัญโญทัยด้วย

ครูน้องผ่านการอบรม "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" จากรัถยาคมแล้ว และเคยเข้าร่วมการอบรมการสอนแนววอลดอร์ฟระดับมัธยมปลายที่ออสเตรเลีย

จันทร์เพ็ญ เชียงกูล

หลังจากเรียนจบอักษรศาสตร์ จุฬา ครูไต่ทำงานด้านเครื่องแต่งกายให้ละครโทรทัศน์ ก่อนจะอพยพไปอยู่กับพี่ที่อเมริกา  เรียนการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ UCLA ต่อด้วยการออกแบบเทคนิคการละครที่มหาวิทยาลัยซินซินแนตติ ทำงานด้านการแต่งหน้าในเทศกาลละครเชคสเปียร์ จากนั้นทำงานให้ททท.ใน LA ครั้นกลับมาเมืองไทย ไต่ทำงานแปลต่างๆ ไปจนถึงงานโครงการสวนสนุก จนมีลูกจึงออกจากงานมาทำหน้าที่แม่

ขณะหาโรงเรียนให้ลูก ครูไต่รู้สึกว่าปัญโญทัยคือสถานที่ที่อยากให้ลูกเข้ามาเรียน เพราะให้ความสำคัญกับทุกๆด้านของเด็ก ประกอบได้เข้าอบรม "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" ที่รัถยาคมจัด ทำให้ครูไต่สนใจอยากจะช่วยงานที่ปัญโญทัย ครั้นเข้ามาทำจึงได้รู้ว่าคนแรกที่ต้องช่วยคือตัวเอง ที่ต้องพัฒนาเป็นสิ่งแรกก่อนที่จะไปพัฒนาเด็ก งานนี้ไม่ง่ายเลย แต่ครูไต่ก็คิดว่าโอกาสทองอย่างนี้จะไปหาที่ไหนได้อีก

กิ่งพร ประพันธ์พจน์

ตลอดชีวิตการเรียนจนจบอักษรศา สตร์ จุฬา ป้ากิ่งมีความขัดแย้งทางความคิดกับครูอาจารย์เสมอ จนตั้งปณิธานว่าอาชีพที่จะไม่ทำคือการเป็นครู ระหว่างนั้นป้ากิ่งได้มีโอกาสทำงานกับเยาวชนอยู่หลายครั้ง มีความคิดว่าการแก้ปัญหาของประเทศชาติต้องเริ่มที่การให้การศึกษาที่ดีแก่เด็ก

แต่ครั้นจบออกมาป้ากิ่งก็เข้าสู่ระบบธุรกิจตามแบบแผนทั่วไป และพบว่าตนเองไม่เคยมีความสุขจากการทำงานเลย จนในที่สุดเมื่อมีลูกป้ากิ่งจึงออกมาช่วยกิจการที่บ้าน และคิดหาโรงเรียนที่ลูกจะมีความสุข โรงเรียนที่จะทำให้ลูกได้รู้จักตัวเอง

ในระหว่างนี้ป้ากิ่งได้ติดตามสามีไปอยู่อเมริกาเป็นเวลา 3ปี และเพราะลูกนี่เองทำให้ป้ากิ่งค้นพบระบบการศึกษาวอลดอร์ฟ ระหว่างที่ลูกเรียนอยู่ ป้ากิ่งได้เป็นอาสาสมัครให้กับโรงเรียนลูก (Baltimore Waldorf School) โดยช่วยงานในชั้นอนุบาล เมื่อกลับมาเมืองไทยป้ากิ่งพาลูกมาเรียนที่ปัญโญทัย โดยคิดแต่เพียงจะหาสถานที่ที่ลูกจะมีความสุขกับชีวิตวัยเรียน แต่สถานที่แห่งเดียวกันนี้กลับเป็นที่ทำงานที่มีความสุขของตัวเองด้วย

จรูญ เฉลิมพรพงศ์

หลังจากได้รับปริญญาตรีจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูเผือกได้เริ่มการทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจสอบคุณภาพของบริษัทอาหารทะเลแช่แข็ง ก่อนจะย้ายมาที่บริษัทกาแฟ

ผ่านการทำงานมา 15ปี ครูเผือกรู้สึกเบื่อหน่ายกับระบบธุรกิจซึ่งเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ มองเห็นคนทำงานเป็นเพียงเครื่องมือในการประกอบกิจการ ใช้เงินทองทรัพย์สินและผลงานเป็นตัววัดคุณค่ามนุษย์ ขาดคุณค่าทางด้านจิตใจ  รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ร่วมงานให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสังคมได้

เมื่อรู้ถึงกระบวนการพัฒนาด้านจิตใจของการศึกษาแนววอลดอร์ฟว่าจะต้องวางพื้นฐานตั้งแต่เด็ก ยากที่จะแก้ไขความคิดความเคยชินในผู้ใหญ่ได้ ครูเผือกจึงเข้าร่วมการอบรม "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" พร้อมทั้งลาออกจากผู้จัดการฝ่ายผลิตมาทำหน้าที่ครู เพื่อเริ่มต้นวางพื้นฐานที่ดีงามให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเริ่ม

ศุจีรา สุวีรานนท์

ครูปูจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ได้ทำงานด้านข่าวและวิจัยก่อนจะศึกษาต่อปริญญาโทที่นิเทศศาสตร์สถาบันเดิม หลังจากจบแล้วได้ทำงานที่สถาบันวิจัยสังคม พร้อมกันนั้นครูปูได้อ่าน 'โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง' อีกครั้ง หนังสือเล่มนี้ปลุกความฝันถึงโรงเรียนและครูใจดีที่เข้าใจเด็กตัวน้อย ต่อมาครูปูได้มาอบรมเรียนรู้แนวทางวอลดอร์ฟจากรัถยาคม รู้สึกว่าวอลดอร์ฟเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ยิ่งได้เรียนรู้เรื่องวอลดอร์ฟมากขึ้น ครูปูก็ยิ่งมั่นใจว่าเป็นแนวทางการศึกษาที่ตอบรับความคิดอุดมคติของตนเอง จึงอยากทำงานกับเด็กตามแนวทางนี้

นิรามิส เกียรติบุญศรี

ครูนีเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เล็ก ภายหลังสำเร็จปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูนีได้เดินทางไปศึกษาภาษาจีนที่คณะภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง จากนั้นจึงศึกษาปริญญาโทต่อที่คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการทำงานที่บริษัทไอซีซี พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษภาษาจีนที่สถาบันวิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก นอกจากนั้นยังแปลและเขียนหนังสือภาษาจีนออกมาหลายเล่มด้วยกัน

ครูนีได้เห็นหลานที่เข้าโรงเรียนนานาชาติ ต้องเรียนหนักมาโดยตลอด และสูญเสียความสดใสของวัยเด็กไปทุกที ขณะที่หลานซึ่งเรียนที่ปัญโญทัยคงความความสดชื่นแจ่มใสทั้งทางใจและสติปัญญาไว้ได้ตลอดมา ครูนีจึงเกิดความสนใจในแนวคิดและระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ได้เข้าร่วมการอบรม "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" จากรัถยาคม และอยากมีส่วนร่วมในการให้การศึกษากับเด็กๆ ในวิถีทางที่ดีกว่า เพื่อให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่า

วีณา รัตนมงคล

เมื่อสำเร็จปริญญาตรีสาขาการศึกษาปฐมวัยจากคณะครุศาสตร์ จุฬา ครูเอ็มได้เข้าทำงานที่บริษัทธุรกิจแห่งหนึ่ง แต่เกิดความรู้สึกว่าชีวิตต้องการอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น จึงหันกลับมาศึกษาวิชาชีพครูต่อ

ระหว่างที่ศึกษาระดับปริญญาโทอยู่นั้น ครูเอ็มได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาและใช้หลักสูตรของโรงเรียนอนุบาลที่ใช้แนวคิด วอลดอร์ฟ จึงขอเข้ามาศึกษาดูงานที่ปัญโญทัย เข้าร่วมกลุ่มศึกษากับคณะครู และเข้ารับการอบรม "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" จากรัถยาคม ครูเอ็มวนเวียนอยู่แถวปัญโญทัยมานับแต่นั้น

ขณะศึกษาปริญญาเอกสาขาหลักสูตรและการสอน ส่วนหนึ่งของการศึกษาทำให้ครูเอ็มมีโอกาสไปดูงานที่โรงเรียนวอลดอร์ฟและโรงเรียนแนวอื่น ในโคโลราโด นอกเหนือจากที่เคยไปดูที่ยุโรปมาแล้วระหว่างการศึกษาปริญญาโท เมื่อกลับมาก็ได้มีโอกาสสอนเด็กจากมูลนิธิคุ้มครองเด็กตามโครงการเพื่อสังคมของปัญโญทัยในวันสุดสัปดาห์ เด็กๆทำให้ครูเอ็มรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย ประกอบกับการทำงานของครูที่ปัญโญทัย เป็นแรงบันดาลใจให้ครูเอ็มตัดสินใจก้าวเข้ามาร่วมทางมากกว่าจะเป็นนักวิชาการตามที่ใครๆ คาดหวัง

อนันต์ เหลืองโพธิ์แมน

หลังจากครูอนันต์จบมัธยมปลายที่เชียงรายก็เข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ พอเรียนได้สักพักหนึ่ง คำถามที่ค้างคาใจก็กลับมา "ทำไมต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายขนาดนี้ ความเป็นมนุษย์ และมิตรภาพที่แท้จริง คุณค่าของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันมันอยู่ตรงไหน เราเกิดมาเพื่ออะไร เราเรียนไปเพื่ออะไร" ครูอนันต์คิดว่าการได้ทำงานเป็นเรื่องเป็นราวจะช่วยหาคำตอบได้ ช่วงนั้นจึงทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงตกแต่งภายใน แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่พอใจ

ชีวิตช่วงหนึ่งครูอนันต์มีเวลาได้ไตร่ตรองชีวิต ได้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และสังคม จนเมื่อลูกมาเรียนที่ปัญโญทัย ครูอนันต์จึงต้องการเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานการศึกษาซึ่งมุ่งหวังให้เด็กๆเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ในอนาคตด้วย เพราะรู้สึกว่าการเป็นครูนับเป็นจุดผกผันของชีวิตอีกครั้ง มนุษยปรัชญาทำให้ต้องมองชีวิตอย่างละเอียด ลึกซึ้ง และเป็นจริงมากที่สุด ครูอนันต์เห็นว่าการร่วมงานที่ปัญโญทัยจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาความรู้ของตัวเองได้อย่างจริงจัง และมีความกระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ภารดี วงศ์บุญเกิด

ป้ามาเราะห์เริ่มเข้าสู่เส้นทางการศึกษา เมื่อครอบครัวเริ่มกิจการโรงเรียน อนุบาลขึ้น แม้จะจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจมาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ผ่านงานบริษัทเอกชนและที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาแล้ว ป้าเราะห์ก็เบนเข็มมาศึกษาปริญญาตรี สาขาการศึกษาปฐมวัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ต่อด้วยปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาเดียวกัน

การเรียนที่จุฬาฯ ทำให้ป้าเราะห์รู้จักวอลดอร์ฟ จึงมุ่งมาที่ปัญโญทัย เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่มีความชัดเจนในการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ และทำงานเพื่อพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันป้าเราะห์ก็ได้เข้าร่วมการอบรมครูอนุบาลวอลดอร์ฟซึ่งจัดโดยสมาคมปฐมวัยวอลดอร์ฟนานาชาติด้วย

รัททพล ฟูตระกูล

ครูหนุ่ยสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เริ่มงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรม สังกัดกระทรวง ยุติธรรม จากนั้นได้เปลี่ยนมาทำงานบริษัทที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ช่วยทนายทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการแปรรูปองค์กร

ครูหนุ่ยไม่เห็นด้วยกับระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนท่องจำมากกว่าค้นหาความเข้าใจในชีวิต ประกอบกับต้องการค้นหาแนวทางการให้การศึกษาที่เข้าใจและตอบสนองพัฒนาการของเด็ก โดยที่ตนเองสามารถที่จะให้การศึกษาแก่บุตรได้ด้วย จากการแนะนำของครูอ้อ จึงได้รู้จักแนวการศึกษาวอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา ในช่วงเวลาดังกล่าวครูหนุ่ยได้มีโอกาสเข้าสังเกตการณ์การสอนภายในโรงเรียนปัญโญทัยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนตัดสินใจลาออกจากงานและเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านปรัชญาการศึกษาดังกล่าว ณ Friere Hochschule Stuttgart Padagogik ประเทศเยอรมนี หลังจากสำเร็จการศึกษาที่นั่นแล้ว ครูหนุ่ยได้กลับมาทำงานสอนที่ปัญโญทัย

สุภาพร วงศ์ศิริกุล

ช่วง 4 ปีที่อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ ครูแบนได้มีโอกาสทำกิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งเป็นประธานชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้ครูแบนได้เห็น สัมผัส ขบคิดกับปัญหาหลายอย่างของสังคม รวมทั้งปัญหาด้านการศึกษาของบ้านเราด้วย

หลังจากที่จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสถิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาคอมพิวเตอร์จากนิด้าแล้ว ครูแบนทำงานด้านคอมพิวเตอร์ในบริษัทเอกชนอยู่สิบกว่าปี จนกระทั่งชีวิตครอบครัวทำให้ครูแบนหันเหชีวิต จากผู้หญิงทำงานมาเป็นแม่บ้านดูแลลูก และก็เป็นโอกาสที่ทำให้ได้ทบทวนกับตัวเองว่า ชีวิตนี้ต้องการอะไร ครูแบนพบว่าตนเองต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสังคม ประกอบกับได้เข้าอบรม “วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา” ที่รัถยาคมจัด ได้พบปะกับกลุ่มครูปัญโญทัย ทำให้ครูแบนอยากเข้ามาร่วมงานที่นี่

จงกลณี วีระเศรษฐกุล

ครูจงเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จนจบพืชไร่-นาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำงานตามสาขาที่เรียนและที่ไม่ได้เรียน จากนั้นก็มีโอกาสไปใช้ชีวิตและเรียนอยู่ต่างแดน จนได้ปริญญาโทด้านการศึกษาแรงงานจาก University of Queensland

เมื่อได้อ่าน "บนหนทางแห่งความหมาย" ครูจงก็รู้สึกว่าเด็กที่ได้เรียนในระบบนี้โชคดีเหลือเกิน เมื่อไม่ได้เป็นเด็กที่โชคดีก็ขอเป็นผู้ใหญ่ที่มีโชคแล้วกัน การตัดสินใจนี้ทำให้มีโอกาสได้พบกับครูวอลดอร์ฟที่มีประสบการณ์หลายท่าน และได้สังเกตการสอนจากโรงเรียนวอลดอร์ฟหลายแห่ง รวมทั้งได้เป็นครูสอนเด็กกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ชั้นป. 1-6 ครูจงรู้จักปัญโญทัยหลายปีมาแล้ว ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาเป็นบุคลากรคนหนึ่ง

John Chalmers

จอห์นสำเร็จการศึกษาด้านปรัชญาและทฤษฎีศิลปะที่ University of California, Santa Barbara ก่อนจะต่อปริญญาโทสาขามนุษยวิทยาที่ California State University Sacramento จากนั้นก็ศึกษามนุษยปรัชญาและการศึกษาวอลดอร์ฟที่ Rudolf Steiner College นอกจากสอนทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่แล้ว จอห์นยังเคยทำด้านการบริหารด้วย มีประสบการณ์มานานในการสอนด้านมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ เป็นครูสอนในโรงเรียนวอลดอร์ฟที่แคลิฟอร์เนียและฮาวายมากว่า 10 ปี ก่อนจะมาสอนที่ปัญโญทัย

วัชรีพร ลิ้มสวัสดิ์

ครูแป๋มจบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างศึกษาได้ทำละครเวทีซึ่งทำให้สนใจวรรณกรรมเยาวชน และร่วมกิจกรรมกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งทำค่ายสำหรับเด็กและลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวด ล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนอันสืบเนื่องจากนโยบายของภาครัฐ

ทันทีที่จบการศึกษา ครูแป๋มได้ทำงานกับบริษัทการบินเยอรมัน ทำให้ได้เดินทางและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลกภายนอก ขณะเดียวกันก็แสวงหาว่าอะไรที่จะส่งเสริมให้ตนเองได้เรียนรู้ด้วยความสนใจไปจนตลอดชีวิตและเติมเต็มสังคมได้ ต่อมาครูแป๋มได้อ่านเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง’ และรู้สึกประทับใจ ทำให้นึกขึ้นได้ว่าสมัยเรียนเคยได้อ่านเกี่ยวกับปัญโญทัยและวอลดอร์ฟ ประกอบกับความทรงจำในวัยเด็กที่คุณตาเคยเป็นนักหนังตะลุงและมักเล่านิทานให้ฟังเสมอ ทำให้ครูแป๋มเริ่มศึกษาเกี่ยวกับวอลดอร์ฟ จากนั้นก็เข้าอบรมครูอนุบาลวอลดอร์ฟซึ่งจัดโดยสมาคมปฐมวัยวอลดอร์ฟนานาชาติจนจบ ก่อนจะเริ่มสอนภาษาอังกฤษบนพื้นฐานการศึกษาวอลดอร์ฟ ครูแป๋มมาร่วมงานกับปัญโญทัย เพราะเห็นว่าการทำงานร่วมกับคณะครูที่มีประสบการณ์อันยาวนาน เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเองและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวอลดอร์ฟให้มากขึ้นลึกซึ้งขึ้น

วรรณกร พันธ์นรา

ในวัยเด็กครูบวบติดตามแม่ซึ่งเป็นครูไปทุกแห่ง เห็นภาพชีวิตครูว่าไม่สนุก และไม่อยากเป็นครู แต่เมื่อจบวรรณกรรมสำหรับเด็กจากมศว. ประสานมิตร ครูบวบกลับหลงใหลการเรียนรู้ไปกับเด็ก และเริ่มผูกพันกับอาชีพครูมาเรื่อย ๆ ช่วงที่ทำงานมีโอกาสอ่านหนังสือและอบรม ทำให้เห็นความน่าสนใจของแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ

ตลอดเวลาที่เป็นครูและทำงานกับเด็ก มีการเรียนรู้มากมายเกิดขึ้น งานครูจึงมีเสน่ห์ สนุก และท้าทายกว่าที่คิด ครูบวบเคยทำงานอาสาสมัครที่ Waldorf School of Lexington สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน และแวะเยี่ยมชมโรงเรียนวอลดอร์ฟตามเมืองต่าง ๆ ที่นั่น

บ่อยครั้งแอบนอกใจอยากลองทำอาชีพอื่นดูบ้าง แต่ก็ค้นพบว่า การได้เห็นการเติบโตของเด็ก การทำงานที่ไม่ได้แค่สอนหนังสือ หากได้พัฒนาตัวเอง น่าจะเหมาะกับตนมากที่สุด

วราภรณ์ โพธิ์ศรีประเสริฐ

ป้าเล็กสนใจเรื่องเด็กมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ครั้นจบจากนิเทศ จุฬาฯ ก็ทำงานด้านสื่อสารมวลชน ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์สำหรับครอบครัว เป็นถนนสายแรกที่นำทางมาให้ได้รู้จักการศึกษาวอลดอร์ฟ

ต่อมาได้ร่วมกับทางบ้านเปิดกิจการโรงเรียน จึงไปศึกษาต่อปริญญาโทครุศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากนั้นได้ไปเป็นอาสาสมัครที่ Beaver Run ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กพิเศษตามแนวทางมนุษยปรัชญา เป็นเวลา 3เดือน ป้าเล็กรู้สึกว่าวอลดอร์ฟเป็นการศึกษาที่กระทบใจมาโดยตลอด จึงเข้าอบรมการศึกษาปฐมวัยวอลดอร์ฟประเทศไทย ในที่สุดก็ตัดสินใจวางมือจากการทำธุรกิจโรงเรียนมาเป็นครูตามเสียงเรียกร้องจากภายใน และเห็นว่าปัญโญทัยเป็นชุมชนที่จะช่วยให้ตนเองได้พัฒนาด้านในจากการทำหน้าที่ครูตามที่มุ่งหวัง

อธิษฐาน ปกป้อง

ครูแอ๊กมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานกับเด็กๆ หลังจากจบคณะอักษรศาสตร์ จุฬา จึงได้เป็นครูที่โรงเรียนไทยและโรงเรียนนานาชาติ พร้อมกับได้ศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาพัฒนาการ มศว. หลังจากนั้นได้ติดตามสามีไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อมีลูกจึงได้ศึกษาแนวทางการศึกษาต่างๆเพื่อหาที่เรียนให้ลูกและได้อ่านหนังสือสะพานสายรุ้งจากเมืองไทย ทำให้เริ่มสนใจการศึกษาวอลดอร์ฟซึ่งเป็นการศึกษาที่บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมดุลและเรียบง่าย จึงเข้าอบรมการศึกษาวอลดอร์ฟที่ประเทศออสเตรียเพื่อนำมาใช้กับลูกและเด็กๆ ต่อมาได้ทำงานที่สถานทูตไทยในกรุงเวียนนาและเป็นครูอาสาสอนภาษาไทยที่วัดไทย-ออสเตรียธรรมราม เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเข้าอบรมวอลดอร์ฟที่รัถยาคม และเมื่อได้ร่วมงานที่ปัญโญทัยจึงพบว่าไม่เพียงแต่เป็นการทำงานที่มีความสุขท่ามกลางเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานที่มีความหมายแก่ชีวิตของเด็กๆและของครูอีกด้วย

สิทธิชัย เจริญดี

หลังจากเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครูอ๊อฟได้ทำงานเป็นทนายความ ตลอดระยะเวลาการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ครูอ๊อฟได้มีโอกาสพบเห็นเรื่องราวต่างๆที่เป็นปัญหาของเยาวชนและสังคมมากมาย แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นมีโอกาสและทางเลือกที่ดีมากมาย จนกระทั่งได้มีโอกาสนำลูกมาเรียนที่ปัญโญทัย และได้มีโอกาสเข้าอบรมคลาสรัถยาคม จนได้พบกับคำตอบที่ตัวเองเฝ้าหามานาน ซึ่งเป็นคำตอบที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลที่สามารถเข้าใจได้ ประกอบกับได้รับโอกาสจากโรงเรียนให้เข้าสังเกตการสอนของหมอพร และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโรงเรียนในหลาย ๆ ด้านจนถึงปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เองที่ให้เชื่อมั่นว่าการศึกษาวอลดอร์ฟเป็นสิ่งที่ช่วยเด็กๆ และสามารถแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

วิริยา พูลสุวรรณ

ด้วยความสนใจในผู้คน ภาษา วัฒนธรรมและภูมิปัญญาตะวันออกเป็นพิเศษ หลังจากจบการศึกษาสาขาวิชาเอกภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูป้อได้เดินทางไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเป็นเวลาประมาณ 3 ปี หลังจากกลับจากปักกิ่งได้มีโอกาสไปศึกษาปริญญาโท 2 ใบที่มหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย ทางด้าน Management และ Human Resource Management พอกลับมาเมืองไทยก็ได้รับโอกาสให้ทำงานสาย Project Management ให้กับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง

พอทำงานได้สักพักใหญ่ หัวใจก็เรียกร้องให้ก้าวออกจากองค์กรที่แสวงกำไรมาสู่องค์กรที่ไม่แสวงกำไร พอเริ่มตั้งครรภ์ก็ได้แสวงหาแนวทางการศึกษารูปแบบต่างๆให้กับลูก และแล้วก็มาพบกับการศึกษาวอลดอร์ฟ จากนั้นจึงเริ่มศึกษาด้วยตนเองเรื่อยมาและลงเรียนคลาสพื้นฐานมนุษยปรัชญาของรัถยาคม ทำให้ค้นพบว่าการศึกษาแนวทางนี้สร้างพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองและมีผลสืบเนื่องไปสู่การเปลี่ยนแปลงรอบตัวอย่างเห็นได้ชัด จึงค่อยๆก้าวเข้ามาสู่การศึกษาและวิถีชีวิตตามแนวทางมนุษยปรัชญาทีละก้าว ท้ายที่สุดตัดสินใจกระโจนลงมาเต็มตัวเพราะเห็นว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งความหวังสำหรับอนาคตของเด็กและสังคม

อัจฉรา เห็นประเสริฐแท้

ระหว่างเรียนปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาบริหารธุรกิจเกษตร น้าเจได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่าง ๆ และชมรมดาวเทียม จบแล้วทำงานในบริษัทต่างชาติพักหนึ่งก่อนจะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโมแนช ออสเตรเลีย โดยทำงานหาค่าใช้จ่ายเองระหว่างที่เรียน เป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เติบโตขึ้นมาก สำเร็จปริญญาโทแล้วกลับมาทำงานที่เมืองไทย ร่วมงานกับชาวต่างชาติและเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ

หลังจากคลอดลูกคนที่ 2 จึงตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่ให้ชีวิต เพราะเห็นว่างานที่ทำเริ่มไม่เหมาะกับชีวิตครอบครัวอีกต่อไป จากคนที่เคยมีชีวิตที่วุ่นวายใช้ multi skill ตลอดเวลา เริ่มเข้ามาศึกษาชีวิตที่เรียบง่าย และช่วยงานจิตอาสาที่สวนโมกข์ไปพร้อม ๆ กับศึกษาธรรมะ รวมไปถึงการเรียน "วอลดอร์ฟบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา" ที่รัถยาคม ทำให้เกิดมุมมองใหม่ในชีวิต และมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่อยากนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งทางโลก ธรรม และมนุษยปรัชญา เพื่อร่วมทำสิ่งที่มีประโยชน์ น้อยแต่มาก เริ่มจากภายในสู่ภายนอก เพียงเพียรทำจะค่อยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในสังคมได้ เมื่อรร. ปัญโญทัยที่ลูกเรียนอยู่เริ่มเพิ่มการทำงานพื้นฐานของผู้ใหญ่ในอนุบาล โดยเปิดให้ผู้ปกครองมาช่วยกันทำ น้าเจจึงอาสามาทำ จนก้าวมาเป็นครูอนุบาลในที่สุด

ต่อตระกูล วงศ์เลื่อนฤทธิ์

ขณะศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูบูนพบว่าตนเองเคร่งเครียดกับการเรียนวิชาของคณะและสบายใจกับการเรียนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลังจากจบมาก็ทำงานสายการเงินการธนาคาร ต่อมาได้เข้าเรียนระดับปริญญาโทต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ระหว่างที่ทำงานได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาของบริษัทอยู่เสมอ

เมื่อมีครอบครัวก็เป็นโอกาสให้ได้ทบทวนความคิด แนวทางชีวิต และความฝันในอนาคต จนตกลงใจออกจากงานประจำมาดูแลลูกเป็นหลักเมื่อการทำงานเต็มเวลาทั้งคู่ไม่เอื้อให้สามารถดูแลลูกได้เท่าที่ควร การเข้าร่วมห้องเรียนพ่อแม่ซึ่งบริษัทจัดให้ครอบครัวพนักงาน ทำให้ได้รู้จักรูปแบบการศึกษาวอลดอร์ฟ ตามมาด้วยการอบรมกับรัถยาคม เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนปัญโญทัย รวมทั้งเป็นพ่ออาสาในอนุบาล เข้าสัมมนา 100 ปีการแพทย์มนุษยปรัชญา และอบรมครูวอลดอร์ฟนานาชาติ เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจในการศึกษาแนววอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา

ยิ่งเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ก็ยิ่งพบความสุขความอิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนฟูมฟักประคับประคองเด็ก ๆ ให้เติบใหญ่ทั้งกายใจ ทั้งยังตระหนักถึงการเติบโตภายในจิตใจตนเองด้วยเช่นกัน จึงตกลงใจมาช่วยงานครูที่ปัญโญทัย

จริยา ยงพิทยาพงศ์

หลังจากจบคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูเบิ้ลก็มาทำงานขายระบบและอุปกรณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต่อมาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อมีลูกคนที่ 2 จึงออกจากงานประจำมาดูแลลูก

เริ่มแรกจากเพื่อนแนะนำให้พาลูกมาเข้า Parent-Child Group ที่ปัญโญทัย มาสู่การเข้าอบรมกับรัถยาคมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมและเข้าช่วยเป็นแม่อาสาที่โรงเรียน จนกระทั่งเข้ารับการอบรมครูวอลดอร์ฟนานาชาติ ทำให้มีความเข้าใจและได้คำตอบต่อคำถามในใจต่าง ๆ มากขึ้น และยิ่งวางใจในโรงเรียนและแนวทาง จนตัดสินใจเข้ามาร่วมงาน เพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กับลูก

ภัคกัญญา พลับพลึง

ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูโน้ตได้เข้าทำงานที่สำนักงานเลขานุการสภากทม. ก่อนจะไปเรียนต่อสาขา Management and Marketing ที่อังกฤษ ระหว่างเรียนได้มีโอกาสทำงานพิเศษหลายอย่าง เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ทำงานบริษัทต่างประเทศในไทย หลังจากแต่งงานก็ติดตามสามีไปที่ออสเตรเลียและทำงานที่นั่น

เมื่อมีลูก ครูโน้ตเห็นว่าแนวทางการเรียนการสอนของปัญโญทัยมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน เห็นความสำคัญของทั้งกายภาพ จิตวิญญาณ ความรู้สึก และสามัญสำนึกที่ดีของการเป็นมนุษย์ จึงพาลูกมาเรียนที่นี่ ยิ่งเมื่อได้สัมผัสการเรียนการสอน ได้เข้าอบรมรัถยาคมและอบรมครูวอลดอร์ฟนานาชาติ จึงสนใจที่จะทำงานกับทางโรงเรียนและพัฒนาตนเองต่อไป