panyotai
EN

สะพานสายรุ้ง

"สะพานสายรุ้ง" เป็นจุลสารที่ "ปัญโญทัย" จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอ เผยแพร่ทัศนะที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็กและครอบครัว ตลอดจนหลักการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ให้แนวทางแก่โรงเรียนวอลดอร์ฟ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ปัญโญทัย

ส่วนหนึ่งในบทความที่นำเสนอได้แก่

สร้างฐานที่มั่นคงให้เด็ก

พ่อแม่แทบทุกคนพยายามตระเตรียมลูกให้มีอนาคตที่สดใส โดยเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จากการเรียนดี มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จทางการศึกษา ความก้าวหน้าทางการงาน และชีวิตที่มั่งคั่งสุขสบายให้ลูกได้

ในโลกที่สลับซับซ้อนขึ้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้นทุกที เด็กยุคใหม่มีปัญหาทางจิตใจมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักการศึกษา เริ่มมองหาว่าอะไรที่ช่วยให้คนเราสามารถประคองตัวเองฝ่าด่านต่าง ๆ ของชีวิตเอาตัวรอดไปได้ และได้ข้อสรุปว่า เพียงสติปัญญา ข้อมูลความรู้ ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่เพียงพอ... อ่านต่อ

เรียนไปเพื่ออะไร

ข้อที่พ่อแม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากข้อหนึ่งเวลาพิจารณาเลือกหาโรงเรียนให้ลูกคือ เด็กที่เรียนจบจากโรงเรียนไปแล้วเป็นอย่างไร ไปเรียนต่อที่ไหนได้บ้าง เกณฑ์สำคัญที่มักใช้วัดกันก็คือ สามารถสอบเข้าสถาบันมีชื่อ คณะที่ใคร ๆ นิยมได้หรือไม่ เป็นความเชื่อของพ่อแม่ทั่วไปว่า การเรียนสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอันดับต้น ๆ จะเป็นหลักประกันอนาคตของลูก

การประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อาจช่วยให้ได้งานที่มีรายได้สูงหรือหางานได้ง่ายภายหลังจากเรียนจบ แต่ถ้าแค่นี้จะทำให้มีชีวิตที่ดีมีความสุข ชีวิตก็คงเป็นเรื่องง่ายดาย จนไม่น่าจะมีคำกล่าวว่า "ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ" เราคงไม่เห็นคนที่รู้สึกอึดอัดเบื่อหน่ายกับงานอาชีพที่ทำ หรือเพิ่งมารู้สึกตัวในภายหลังว่า สาขาที่เรียนมาไม่ตรงกับความสนใจและความนิยมชมชอบของตน... อ่านต่อ

เสริมการศึกษาด้วยโภชนาการ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 พย.) มูลนิธิ MOA ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ได้นำคณะครูจำนวน 40 ท่านจากสองร.ร. ในจังหวัดนนทบุรีและลพบุรีเข้ามาเยี่ยมชมการทำงานด้านโภชนาการของปัญโญทัย เนื่องจาก MOA ซึ่งทำงานด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาเป็นเวลานาน ตระหนักถึงความจริงจัง ความใส่ใจในการทำงานของปัญโญทัย เกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านอาหารและพัฒนาการของเด็กไทย โดยตลอดเวลาหลายปีที่ MOA ทำงานร่วมกับปัญโญทัยของเรามานี้ เราเป็นเพียงร.ร. เดียวที่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วนทั่วถึงทั้งทางหลักการและการปฏิบัติ

กว่า 15 ปีที่ปํญโญทัยนำอาหารกลางวันจากเกษตรอินทรีย์มาให้กับลูกหลานปัญโญทัยของเรา ในระยะแรกที่เราอยู่หมู่บ้านนภาลัยการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากในระยะนั้นสังคมไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของพืชผักที่มาจากเกษตรอินทรีย์... อ่านต่อ

ผ่านกาลเวลา

ปีนี้เป็นปีที่การศึกษาวอลดอร์ฟมีมาครบรอบ 100 ปี จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งที่สตุทการ์ท เยอรมัน เมื่อปี 1919 สำหรับลูก ๆ ของคนงานโรงงานยาสูบวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย การศึกษานี้ได้รับความสนใจ เป็นที่เรียกร้องต้องการของผู้ที่อยากเห็นการศึกษาให้การพัฒนาเด็กอย่างรอบด้านและสอดรับกับธรรมชาติของพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง จึงนำหลักการนี้ไปใช้ในเมืองและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จวบจนปัจจุบันมีโรงเรียนที่ใช้แนวทางนี้นับพันแห่ง จนกลายเป็นเครือข่ายโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก...

ในยุคสมัยของสไตเนอร์ นวัตกรรมใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ วิถีปฏิบัติใหม่ๆ ที่นำมาใช้ หลายอย่างเป็นความแปลกใหม่ซึ่งไม่เคยมีที่ใดมาก่อน จึงจุดชนวนให้เกิดความคลางแคลง ไม่แน่ใจ เกิดคำถามข้อสงสัยขึ้นในหมู่คนทั่วไป แต่หลังจากผ่านกาลเวลามา ปรากฏว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สไตเนอร์ได้ชี้แนะไว้เมื่อร้อยปีก่อน เพิ่งเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมา ผลการศึกษาวิจัยทางการศึกษา การแพทย์ ฯลฯ ในแนวทางกระแสหลักบางอย่างเพิ่งได้ข้อสรุปออกมาใกล้เคียงกับที่สไตเนอร์เคยว่าไว้ อาทิ เช่น... อ่านต่อ

กิจกรรมดนตรีกับชุมชนปัญโญทัยของเรา

คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านอาจจะทราบ รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีริมบึง และดนตรีเพื่อผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาของปัญโญทัยในปีการศึกษาที่แล้ว ปีนี้เราก็มีกิจกรรมดนตรีริมบึงดังเดิมซึ่งหลายท่านก็คงจะได้รับชมไปแล้วและก็จะมีต่อ ๆ ไปในทุกบ่ายวันศุกร์ ยกเว้นศุกร์ที่เป็นนัดแรกศุกร์ ส่วนดนตรีเพื่อผู้ป่วยสําหรับปีนี้เราได้ย้ายไปแสดงที่โรงพยาบาลภูมิพล โดยวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการแสดงของนักเรียนม. 5 และศุกร์ที่จะถึงนี้จะเป็นการแสดงของนักเรียนม. 4... อ่านต่อ

จากการเลียนแบบสู่การเรียนรู้

เคยไหมที่เราเห็นลูกผูกโบว์หรือเปิดสมาร์ทโฟนได้เองโดยที่ไม่มีใครสอน

เด็กทำตามคนที่เห็น ที่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่เฉพาะพ่อแม่ รวมทั้งปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ครู เพื่อน พี่น้อง รวมทั้งคนอื่นที่พบเห็น เช่น บุรุษไปรษณีย์ คนเก็บขยะ คนสวน แม่ค้าขายของ คนขับรถ ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง

ใครที่อยู่กับเด็กก็คงจะเห็นว่าเวลาเราทำอะไร เด็กชอบทำตามอย่าง เวลาจะสอนให้เด็กทำอะไร เราต้องทำให้ดู แล้วเด็กจะเลียนแบบตามไปเอง นี่เป็นวิธีที่ธรรมชาติสร้างมาให้เด็กใช้ในการเรียนรู้... อ่านต่อ

บทบาทของผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงของวัยเด็ก

กว่าจะโตเต็มที่บรรลุนิติภาวะ วุฒิภาวะ เด็กต้องได้รับการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูจากผู้ใหญ่ไปยาวนานจนกว่าจะถึงเวลานั้น บทบาทของพ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็กก็ต้องเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของเด็กด้วย ช่วงปฐมวัยการดูแลบ่มเพาะเป็นแบบหนึ่ง ช่วงกลางของวัยเด็กเป็นอีกแบบหนึ่ง ช่วงวัยรุ่นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง วิธีที่ใช้ได้ดีสำหรับเด็ก 4 ขวบอาจไม่เหมาะสมหรือไม่ได้ผลสำหรับเด็ก 10 ขวบก็เป็นได้ ในทำนองเดียวกัน วิธีที่ควรใช้กับวัยรุ่นอายุ 15 ก็อาจจะไม่สมควรใช้กับเด็ก 5 ขวบ... อ่านต่อ

สมดุลในความเป็นมนุษย์

ลูกนกฟักออกมาจากไข่ได้ 2 สัปดาห์ก็บินได้ ลูกเป็ดฟักออกมาวันแรกก็ว่ายน้ำได้ ลูกม้าคลอดออกมา 2 ชั่วโมงก็ยืนได้แล้ว แต่ลูกคนต้องใช้เวลาร่วมปี กว่าจะยืนเดินได้ ต้องพึ่งพาแม่แทบทุกอย่างในขวบปีแรก ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย กว่าจะกินอาหารเอง ไปไหนมาไหน ทำอะไรเองได้ ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ ต้องใช้เวลานานกว่า กว่าจะโตเต็มที่หาเลี้ยงตัวเองได้ก็กินเวลาร่วม 20 ปี

การมีช่วงการเจริญเติบโตทีละขั้น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีวัยเด็กที่ยาวนานนี้ ช่วยอำนวยให้มนุษย์มีศักยภาพเปิดกว้าง พัฒนาไปได้อย่างอิสระ และมีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ได้มากกว่าสัตว์ซึ่งมีช่วงระยะเวลาการเติบโตสั้น การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างตายตัวมากกว่า ไม่สามารถเบี่ยงออกไปจากแบบแผนที่สัญชาตญาณกำกับไว้ได้เท่าไรนัก เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาที่สูงขึ้นคือ การเติบโตทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป การไม่เน้นพัฒนาความสามารถเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งโดด ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังในสัตว์... อ่านต่อ

ถ้าอยากให้ลูกใช้เงินเป็น

หนึ่งในบรรดาสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียนรู้คือการใช้เงิน โดยหวังว่าลูกจะได้หัดใช้เงิน หัดเก็บออม หัดสะสมเงินไว้ซื้อของที่ต้องการ และคิดว่าลูกจะเรียนรู้การใช้เงินได้ก็ต้องมีเงิน จึงให้ pocket money ลูกรายวัน สัปดาห์ เดือน หรือจ่ายค่าแรงให้ลูกเมื่อช่วยงานในบ้าน

เวลาที่เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามได้เงินมา เขาจะทำอย่างไรกับมัน เขาก็จะหาทางเอามาใช้ เราจึงเห็นการจับจ่ายใช้สอยของคนจำนวนมากพุ่งสูงในช่วงหลังสิ้นเดือนอยู่เป็นประจำ การให้เงินเด็กจึงมักเป็นการฝึกให้เด็กใช้เงินมากกว่าจะเรียนรู้ว่าควรใช้เงินอย่างไร การมีเงินกลับไปกระตุ้นความอยากได้อยากมีอยากซื้อของเด็กขึ้นมาโดยใช่เหตุ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เงินของเด็กบางทีก็อาจเป็นไปเพื่อซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ควร หรือกระทั่งสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเองซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในยุคสมัยนี้ บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียด้วยซ้ำ การให้เด็กมีเงินในวัยที่ดุลยพินิจในการเลือกใช้สอยยังไม่พร้อมจึงไม่เป็นผลดีต่อตัวเขาเองแต่อย่างใด... อ่านต่อ

พัฒนาการทางภาษาของเด็ก

ภาษาเป็นสิ่งที่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น การเรียนรู้ภาษาเป็นความสามารถที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของคนเรา ซึ่งยังไม่มีในเด็กเมื่อแรกเกิด และจะต้องได้รับการบ่มเพาะขึ้นมา

พัฒนาการทางภาษาของเด็กเริ่มจากการฟัง ในวัยทารกเด็กเรียนรู้ภาษาพูดจากการฟังคำพูดของผู้ใหญ่ เวลาผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กหรือพูดคุยกันให้เด็กได้ยิน ไม่เฉพาะคำพูดที่ใช้เท่านั้น แต่ท่าที ท่วงทำนอง น้ำเสียง ความคิด ทัศนคติของผู้พูดก็ส่งผลและถ่ายทอดสู่เด็กด้วย รดน้ำพรวนดินให้สำนึกแรกในภาษาค่อย ๆ เติบโตขึ้นในใจเด็ก จะเป็นในทิศทางใดก็แล้วแต่ การเคลื่อนไหว เล่น ใช้แขนขาทำอะไรต่อมิอะไร นอกจากจะกระตุ้นการประสานงานของส่วนต่าง ๆ ในร่างกายและสมดุลแล้ว ยังกระตุ้นพัฒนาการในการพูดอีกต่างหาก... อ่านต่อ

อยู่กับลูก

พ่อแม่ที่มีลูกเล็กมักอ่อนล้า นอนไม่พอ เวลานอนไม่พอ เราก็จะมีพลังงานไม่พอ ทำให้เรามักอ่อนข้อง่าย ๆ ในกรณีที่ไม่ควร หรือไม่ก็อารมณ์หงุดหงิดขุ่นเคือง เราจึงไม่มีสติ ยามที่ขาดสติเราก็จะจัดการกับลูกไม่ได้ แล้วเราก็จะเกลียดตัวเอง มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 ข้อที่ควรคำนึงถึง เพื่อช่วยให้สามารถจัดการกับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น คือ

  • ยืดหยุ่น
  • มีขอบเขต
  • รักษาความสม่ำเสมอของแบบแผนที่ปฏิบัติไว้ทุกวัน

การยืดหยุ่นเป็นผลจากการสังเกตข้างในตามที่เป็นจริง เราสามารถฝึกฝนความยืดหยุ่นได้โดยทำงานด้านใน เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง ในส่วนของขอบเขต เราต้องค้นหาด้วยตัวเอง ต้องตัดสินใจว่าขอบเขตสำหรับลูกในบ้านจะอยู่ตรงไหน เวลาเข้านอน เวลากิน สิ่งที่ให้กิน ภาษาที่ใช้ในครอบครัว ฯลฯ เราต้องกำหนดขอบเขตไว้ล่วงหน้า และเพียงแต่ไม่ปล่อยให้เด็กทำเกินขอบเขต... อ่านต่อ

กันไว้ดีกว่าแก้

เดี๋ยวนี้เวลาป่วยไปหาหมอแต่ละที โดนตรวจนั่นตรวจนี่สารพัด แม้จะเป็นโรคเล็กน้อย เช่น หวัด ท้องเสีย ก็อาจมีการเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่ต้องมีการตรวจมากมายอะไรขนาดนี้ และตรวจเสร็จแล้วกลับบ้านได้ เดี๋ยวนี้อาจต้องนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะถ้ามีประกันด้วยหมอก็ยิ่งจัดเต็ม ทำอะไรได้บ้างก็ทำหมด จ่ายยาอะไรได้บ้างก็จ่ายหมด ไม่เว้นแม้แต่เด็ก หรืออาจเพราะเป็นเด็ก รู้ว่าพ่อแม่จะต้องห่วงใย กลัวลูกเป็นอะไร ไม่กล้าไม่รักษาหรอก

คนเฒ่าคนแก่ที่เคยเห็นการรักษาของหมอสมัยก่อนยุคอิเลคทรอนิก เห็นแล้วก็สงสารเด็กว่าไม่สบายเล็กน้อยแค่นี้ ทำไมต้องถูกจับตรวจนั่น เจาะนี่ test โน่น ขนาดนี้ด้วย วงการแพทย์ในต่างประเทศเองก็ยอมรับว่าการรักษาพยาบาลสมัยนี้บางครั้งก็เกินความจำเป็น ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่ก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเป็นเด็กก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่... อ่านต่อ

พัฒนาการของสำนึกทางเพศ

ก่อนลูกจะเกิด บางคนอาจมีความปรารถนาอยากได้ลูกชายหรือลูกสาว แต่หลังจากที่คลอดออกมาแล้ว เราแทบจะลืมประเด็นนี้ไปเลยถ้าไม่ได้ยึดติดกับมันมาก เวลาอุ้มหรือป้อนนมลูก เราไม่ได้คิดหรอกว่ากำลังเลี้ยงก่อนลูกจะเกิด บางคนอาจมีความปรารถนาอยากได้ลูกชายหรือลูกลาว แต่หลังจากเด็กผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะเด็กเล็ก ๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม โลกรอบตัว สภาวะธรรมชาติ และผู้คนใกล้ชิด จะเห็นได้ว่าเด็กทารกไม่ค่อยมีความแตกต่างระหว่างเพศเท่าใดนัก หน้าตาก็ไม่ได้บอกให้รู้เลยว่าเป็นเพศใด วิธีการเข้าหาโลกของเด็กในช่วง 7 ปีแรกไม่ว่าชายหรือหญิงก็ใกล้เคียงกัน อาจกล่าวได้ว่าเด็กเล็กยังไม่มีลักษณะทางเพศก็ว่าได้

ผู้ใหญ่มักเป็นฝ่ายสร้างแบบแผนให้ว่าเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงควรแต่งตัวอย่างนี้ ใส่สีนี้ เล่นแบบนี้ โดยที่ตัวเด็กเองยังไม่ประสีประสาอะไรเลย ยังไม่มีสำนึกในความเป็นเพศชายเพศหญิงเสียด้วยซ้ำ เมื่อค่อย ๆ เจริญวัยขึ้น เด็กจึงเริ่มรู้ว่ามีเพศชายหญิงที่แตกต่างกันอยู่... อ่านต่อ

หลุมพรางแห่งความรัก

เคยเห็นเด็กแบบนี้กันบ้างไหม

  • กับข้าวเต็มโต๊ะ แต่เลือกจะกินอย่างอื่นที่ไม่มี
  • ทำถุงเท้า กล่องข้าว หนังสือ กระเป๋าหายอยู่บ่อยๆ โดยไม่สนใจจะตามหา
  • มีคนช่วยเตรียมของไปโรงเรียนให้ทุกวัน วันไหนไม่มีก็บ่นว่าไม่มีคนทำให้

ที่บ้านมีแบบนี้ด้วยหรือเปล่า

อาการทั้งหมดนี้มีสาเหตุร่วมกันคือ การที่เด็กไม่เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ และคนที่ทำอะไรๆให้ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปร่วมสมัยของเด็กยุคนี้ ไม่เฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะเท่านั้น แต่ทุกระดับเศรษฐสังคม จึงยากที่ทุกวันนี้เราจะไม่เห็นเด็กที่มีลักษณะทำนองนี้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...อ่านต่อ

พาลูกไปไหนดี

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่พ่อแม่นิยมกันคือ การพาครอบครัวไปเที่ยวทางไกล ทั้งต่างจังหวัด ทั้งต่างประเทศ บางครอบครัวก็ทำเพราะว่าพ่อแม่ชอบเที่ยว บางครอบครัวก็เชื่อว่าการให้ลูกมีโอกาสเดินทางไปตามที่ต่างๆ จะเป็นการเปิดหูเปิดตา เพิ่มพูนประสบการณ์ความรู้แก่ลูก

การท่องโลกกว้างดูน่าสนุกตื่นเต้นสำหรับผู้ใหญ่ เราใส่มุมมองของเราเข้าไปในเด็ก จึงคิดว่าเด็กๆ น่าจะสนุกตื่นเต้นไปด้วย ได้เปิดหูเปิดตาพบเห็นสิ่งใหม่ๆ ถ้าพลาดไปจะเสียโอกาส

ลองทบทวนดูดีๆ เวลาพาลูกไปเที่ยวลูกเป็นอย่างไรบ้าง...อ่านต่อ

วุฒิภาวะที่สวนทาง

ตลอดประวัติศาสตร์นับแต่บุพกาล มนุษยชาติได้เพียรพยายามดิ้นรนหาหนทางที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น ผ่านกาลเวลามาจนทุกวันนี้ ความก้าวหน้าและวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งและนับวันยิ่งก้าวกระโดดของโลก ช่วยให้มนุษยเราได้รับความสะดวกสบายขึ้นอย่างมหาศาลในหลายๆด้านด้วยกัน มีอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องมือเครื่องไม้นานัปการคอยสนองความต้องการต่างๆของเรา ทักษะพื้นฐานหลายๆอย่างในชีวิตมนุษยจึงถูกลัด เว้น ละเลยไปเสีย ไม่ค่อยมีใครเห็นความจำเป็นและความสำคัญสำหรับสังคมยุคนี้ โดยที่ไม่ตระหนักว่าความลำลากลำบนที่บรรพบุรุษของเราประสบ ให้บทเรียนและมีคุณค่าในการหล่อหลอมความเป็นมนุษยเพียงไร ความท้าทาย ความบากบั่น ความอดทนที่มนุษยเราเผชิญและผ่านพ้นจากการสู้ชีวิต จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ความสามารถ และการรู้จักคิดหาหนทางให้เราได้อย่างไร... อ่านต่อ